30 พฤศจิกายน 542
ชี้แจงกรณีผู้ประกอบการขอให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
พิจารณายกเลิกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับลงวันที่ 12 กันยายน 2550
เรื่องนโยบายว่าด้วยการยื่นคำขออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ คำขออาชญาบัตรพิเศษ
และคำขอประทานบัตรในกรณีการยื่นคำขอเหลื่อมล้ำทับซ้อนในพื้นที่เดียวกัน
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ขอเรียนชี้แจงว่า ตามที่กรมได้กำหนดนโยบายว่าด้วยการยื่นคำขออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ คำขออาชญาบัตรพิเศษ และคำขอประทานบัตรในกรณีการยื่นคำขอเหลื่อมล้ำทับซ้อนในพื้นที่เดียวกันนั้น เกิดขึ้นเนื่องจากได้มีผู้ประกอบการแสดงความประสงค์ที่จะยื่นคำขออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ คำขออาชญาบัตรพิเศษ และคำขอประทานบัตรเหลื่อมล้ำทับซ้อนในพื้นที่เดียวกันในแต่ละจังหวัดเป็นจำนวนหลายราย จึงก่อให้เกิดปัญหาข้อพิพาทระหว่างผู้ยื่นคำขอด้วยกันเองและกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ดังนั้น เพื่อให้การแก้ไขปัญหาในประเด็นดังกล่าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โปร่งใสและเพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ผู้ประกอบการทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน ตลอดจนเพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรแร่เป็นไปอย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้กำหนดนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
ดังนั้น ตามที่มีผู้ประกอบการได้เสนอความเห็นและแนวทางการแก้ไขปัญหาใน 2 ประเด็น กล่าวคือ
ประเด็นแรก ห้ามมิให้ยื่นคำขออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ คำขออาชญาบัตรพิเศษ และคำขอประทานบัตรเหลื่อมล้ำทับซ้อนในพื้นที่เดียวกัน
ประเด็นที่สอง ผู้ที่จะยื่นคำขอประทานบัตรได้จะต้องเป็นผู้ที่ได้ยื่นคำขออาชญาบัตรในพื้นที่ที่ได้ยื่นคำขอประทานบัตรแล้วเท่านั้น
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ขอเรียนชี้แจงในประเด็นตามข้อเสนอแนะ ดังนี้
1. ประเด็นที่เสนอห้ามมิให้ยื่นคำขออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ คำขออาชญาบัตรพิเศษ และคำขอประทานบัตรเหลื่อมล้ำทับซ้อนในพื้นที่เดียวกันนั้น ขอเรียนว่าตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 ได้กำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะขอรับประทานบัตรหรืออาชญาบัตรจะต้องยื่นคำขอ ประกอบกับเมื่อพิจารณาบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 แล้วจะเห็นได้ว่าไม่มีบทบัญญัติใดห้ามในเรื่องดังกล่าวไว้โดยชัดแจ้ง แต่เนื่องจากในปัจจุบันยังมีปัญหาการยื่นคำขอประทานบัตรหรือคำขออาชญาบัตรเหลื่อมล้ำทับซ้อนกับพื้นที่ที่มีผู้อื่นได้ยื่นคำขอไว้แล้วอยู่ กรมจึงยังเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องใช้ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับลงวันที่ 12 กันยายน 2550 เรื่องนโยบายว่าด้วยการยื่นคำขออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ คำขออาชญาบัตรพิเศษ และคำขอประทานบัตรในกรณีการยื่นคำขอเหลื่อมล้ำทับซ้อนในพื้นที่เดียวกันเพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องต่อไป อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาจากหลักการตามนโยบายในการแก้ปัญหาดังกล่าว จึงได้กำหนดให้เจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่รับจดทะเบียนคำขอไว้ทุกราย โดยกำหนดให้ผู้ยื่นคำขอรายแรกที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดจะได้รับการพิจารณาก่อน โดยเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติแร่เพื่อให้ความเห็นตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 เพื่อเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะผู้มีอำนาจอนุญาตตามมาตรา 29 มาตรา 33 และมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 พร้อมทั้งเสนอให้รัฐมนตรีเป็นผู้พิจารณาสั่งไม่อนุญาตคำขอรายอื่นๆ ไปในคราวเดียวกัน และ เมื่อรัฐมนตรีได้ให้สิทธิแก่ผู้ยื่นคำขอรายแรกแล้ว ให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่แจ้งผลการพิจารณาดังกล่าวให้เจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่ทราบ เพื่อแจ้งผลการพิจารณาไม่อนุญาตคำขอให้ผู้ยื่นคำขอทุกรายทราบ พร้อมเหตุผลที่ไม่อาจอนุญาตให้สิทธิตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 ได้
แต่อย่างไรก็ตาม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ได้เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว ดังนั้น ในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. .... นั้น จึงได้กำหนดบทบัญญัติห้ามมิให้มีการยื่นคำขออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ คำขออาชญาบัตรพิเศษ และคำขอประทานบัตรเหลื่อมล้ำทับซ้อนในพื้นที่เดียวกันเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวไว้ในกฎหมายเพื่อให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น
2. สำหรับประเด็นที่สอง ตามที่เสนอแนะว่าผู้ที่จะยื่นคำขอประทานบัตรได้จะต้องเป็นผู้ที่ได้ยื่นคำขออาชญาบัตรในพื้นที่ที่ได้ยื่นคำขอประทานบัตรแล้วเท่านั้น ขอเรียนว่ากรณีเกี่ยวกับหลักฐานที่เชื่อถือได้ว่าพบแร่นั้น กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ได้วางแนวปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไว้ตามระเบียบกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับคำขอประทานบัตร การออกประทานบัตร การต่ออายุประทานบัตรและการโอนประทานบัตร พ.ศ. 2558 ข้อ 7 (4) โดยกำหนดให้ผู้ประสงค์จะขอประทานบัตร จะต้องแสดงหลักฐานการพบแร่จากผลการสำรวจแร่ตามอาชญาบัตร หรือจากข้อมูลการสำรวจแร่ของทางราชการ หรือแร่ในเขตคำขอนั้นอยู่ในลักษณะที่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเป็นแร่ชนิดใด ตัวอย่างเช่น แร่ชนิดหินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน (เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง) เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติในมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 ซึ่งได้กำหนดเป็นหลักการว่าผู้ที่จะขอประทานบัตรจะต้องยื่นคำขอพร้อมแสดงหลักฐานที่เชื่อถือได้ว่าพบแร่หรือมีแร่ชนิดที่ประสงค์จะเปิดการทำเหมือง จึงย่อมเห็นได้ว่ากฎหมายประสงค์ที่จะให้ผู้ขอประทานบัตรต้องดำเนินการสำรวจแร่ตามอาชญาบัตรเพื่อให้ทราบว่าในพื้นที่ที่จะยื่นคำขอประทานบัตรนั้นมีข้อบ่งชี้ว่าพบแร่ชนิดที่ประสงค์จะเปิดการทำเหมือง และมีปริมาณเพียงพอในเชิงพาณิชย์ที่จะเปิดการทำเหมืองได้หรือไม่
อนึ่ง กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ขอเรียนชี้แจงเพิ่มเติมว่าตามนโยบายดังกล่าวยังได้กำหนดให้พื้นที่ใดที่มีผู้ถืออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่หรืออาชญาบัตรพิเศษไว้แล้ว และดำเนินการสำรวจแร่จนพบแร่ชนิดที่ประสงค์จะเปิดการทำเหมืองและมีปริมาณเพียงพอในเชิงพาณิชย์ หากมีความประสงค์ที่จะขอประทานบัตรก่อนที่อาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่หรืออาชญาบัตรพิเศษจะสิ้นอายุก็สามารถดำเนินการได้นั้น ย่อมแสดงให้เห็นว่านโยบายดังกล่าวมุ่งคุ้มครองและให้การรับรองสิทธิของผู้ได้รับอนุญาตให้สำรวจแร่ตามอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่หรืออาชญาบัตรพิเศษสามารถที่จะยื่นคำขอประทานบัตรในพื้นที่ที่ได้ทำการสำรวจแร่ไว้อย่างต่อเนื่องแล้ว
ทั้งนี้ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของทุกภาคส่วนเพื่อนำไปสู่กระบวนการแก้ไขปัญหา จึงขอขอบคุณผู้ประกอบการที่ให้ข้อเสนอแนะและเป็นห่วงกังวลในประเด็นปัญหาดังกล่าวมา ณ โอกาสนี้
ชื่อไฟล์ | Download |
---|---|
เอกสารชี้แจง ... | ดาวน์โหลด |
3 views