ขนาดตัวอักษร

ความตัดกันของสี

LINE@ @prdpim1

แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ เพื่อการบริหารจัดการแร่อย่างเหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาประเทศ

30 พฤศจิกายน 542


การทำเหมืองแร่ เป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญต่อความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ  แต่ในระยะเวลาที่ผ่านมา การพิจารณาอนุญาตทำเหมืองแร่ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องด้วยพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2560 กำหนดให้การพิจารณาอนุญาตให้ทำเหมืองได้เฉพาะในพื้นที่ที่แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่กำหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่ ซึ่งหากไม่มีการเสนอแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบโดยเร็ว อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงด้านวัตถุดิบแร่ สำหรับภาคอุตสาหกรรมแขนงต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงกับการดำรงชีวิตของประชาชน  รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ร่วมกับกรมทรัพยากรธรณีได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเกี่ยวกับหลักการและรายละเอียดในการจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ และการกำหนดเขตเหมืองแร่เพื่อการทำเหมืองในระยะแรกของแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ระหว่างปี 2560 - 2564 แล้ว ก่อนนำแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ เพื่อให้การพิจารณาอนุญาตหรือต่ออายุประทานบัตรสามารถดำเนินการได้ตามบทบัญญัติกฎหมายว่าด้วยแร่ฉบับใหม่ดังกล่าว  

แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ เป็นแนวทางในการบริหารจัดการแร่ให้เกิดความเหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุดภายใต้ดุลยภาพด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน  โดยสาระสำคัญของแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ประการหนึ่ง คือ การกำหนดเขตแหล่งแร่ เพื่อให้การทำเหมืองมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ   ทั้งนี้ การกำหนดเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองในพื้นที่ใดก็ตาม เป็นเพียงการกำหนดเขตพื้นที่ที่อาจอนุญาตได้เท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าพื้นที่ดังกล่าวทั้งหมดจะได้รับอนุญาตให้ทำเหมือง  เพราะการพิจารณาอนุญาตให้ทำเหมืองต้องผ่านขั้นตอนต่าง ๆ ตามกฎหมายอย่างเข้มงวด รวมทั้งต้องผ่านการรับฟังความคิดเห็นของชุมชนในพื้นที่  โดยหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตทำเหมืองที่สำคัญ คือ การพิจารณาความคุ้มค่าในทางเศรษฐกิจ  ความเหมาะสมของเทคโนโลยีที่ใช้ในการทำเหมือง  ความเหมาะสมของมาตรการป้องกันผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน  รวมทั้งพิจารณาแผนการฟื้นฟู การพัฒนา การใช้ประโยชน์และการเฝ้าระวังผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน   


Failed to copy the link. Please try again.
แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ เพื่อการบริหารจัดการแร่อย่างเหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาประเทศ CTA Widget Facebook YouTube X